CAT ประกาศความพร้อมด้านบริการ Smart City และ IoT ปักธงภูเก็ตเปิดตัวโครงข่าย LoRaWAN และระบบแพลตฟอร์ม
Internet of Things (IoT) รองรับบริการอัจฉริยะด้านต่างๆ
ภายใต้แบรนด์ “LoRa IoT by CAT” พร้อมผนึกพาร์ตเนอร์ทุกภาคส่วนร่วม ขับเคลื่อนบริการอัจฉริยะ
ชูภูเก็ตเป็นต้นแบบสมาร์ตซิตี้อย่างสมบูรณ์ เทียบชั้น Smart
City ทั่วโลก เตรียมนำโมเดลภูเก็ตเมืองอัจฉริยะขยายสู่เมืองใหญ่ทั่วประเทศ
บริษัท กสท
โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้จัดงาน “Success
to Phuket Smart City” พร้อมเปิดตัว LoRa IoT by CAT ณ โรงแรม Bhukitta Grand Ballroom จังหวัดภูเก็ต โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เป็นประธานในงาน ร่วมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พันธมิตรธุรกิจ มหาวิทยาลัย
และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วน
เพื่อเปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN
อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน Phuket Smart City เมืองอัจฉริยะต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย ตามแผนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พ.อ.สรรพชัย
หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ได้มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารไร้สาย
LoRaWAN เพื่อรองรับบริการ IoT ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแนวนโยบายไทยแลนด์
4.0 โดยเฉพาะโครงการ Smart City ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดแรกที่
CAT เปิดตัวโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN อย่างเต็มรูปแบบครอบคลุมทั่วจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการ
Smart Services ด้านต่าง ๆ และการใช้งานอุปกรณ์ IoT ในจังหวัดภูเก็ตที่มีแนวโน้มจำนวนการใช้งานเพิ่มมากขึ้น หลักการพัฒนาสมาร์ตซิตี้จะประกอบด้วย
2 ส่วน คือ ส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน กับส่วนที่เป็นบริการ ซึ่งภารกิจหลักที่ CAT ได้ดำเนินการแล้วในส่วนแรก
คือการติดตั้งโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูง Free Wi-Fi 1,000 จุดทั่วทั้งภูเก็ต และล่าสุดคือการติดตั้งโครงข่ายไร้สายสำหรับ IoT
คือ LoRaWAN ซึ่งหลังจากจัดให้มีโครงข่ายพื้นฐานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
CAT ยังได้ขยายมาดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของบริการ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาบริการและโซลูชันต่างๆ
ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในท้องถิ่น ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเมืองภูเก็ตที่มีเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 CAT ได้วางโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN (Long-Range Wide Area
Network) ในภูเก็ต เป็นโครงข่ายที่ออกแบบมาเพื่อรองรับบริการ IoT
(Internet of Things) และเป็นระบบที่รองรับการพัฒนาโซลูชันบริการอัจฉริยะต่างๆ
ในเมืองที่เป็น Smart City สำคัญๆ ในหลายประเทศทั่วโลก โดย LoRaWAN
จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับ-ส่งข้อมูลจากอุปกรณ์หรือเซ็นเซอร์ต่างๆ
อันเป็นหัวใจสำคัญของบริการ อัจฉริยะใน Smart City อาทิ
Smart Metering, Smart Buildings, Smart Lighting, Smart Parking, Smart Farming, Smart
Logistics และ Smart Tourism ด้วยการรับ-ส่งสัญญาณได้ครอบคลุมระยะทางไกลและใช้พลังงานต่ำ
โดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ LoRaWAN
ขณะเดียวกันเพื่อสนับสนุนด้านการให้บริการ
CAT ได้เปิดตัวพัฒนาแพลตฟอร์ม LoRa IoT by CAT เพื่อให้ความสะดวกต่อภาคธุรกิจที่จะเข้าร่วมศึกษาพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ
เพื่อให้บริการบนโครงข่าย LoRaWAN โดยบริการที่ได้เริ่มทดสอบให้บริการไปแล้ว
ได้แก่ ระบบติดตามพิกัด (GPS Tracking) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งการเดินทางของยานพาหนะต่างๆ
ในจังหวัดภูเก็ต อาทิ เรือ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถเก็บขยะ รถทัวร์ ฯลฯ ทั้งนี้ การใช้งานบริการด้าน
IoT ในภูเก็ตยังอยู่ในระยะแรก และมีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว
เช่น ผู้ให้บริการ Speed Boat รายใหญ่ได้เริ่มนำไปใช้เพื่อดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
ทั้งในรูปแบบของการติดอุปกรณ์ระบบติดตามพิกัดไว้บนตัวเรือ และสายรัดข้อมือติดตัวนักท่องเที่ยว
(Wristband) โดยบริการอื่นๆ ที่ CAT
ได้พัฒนาร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อสนับสนุน Smart Tourism อาทิเช่น
แอปพลิเคชัน Smart Phuket 4.0, อุปกรณ์ Beacon เพื่อแจ้งให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติในภูเก็ตได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องโดยตรงจากแหล่งข้อมูล
เช่น บริการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวหรือโปรโมชั่นดีๆ และ Digital Signage จอภาพดิจิทัลเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลพื้นฐาน
เช่น ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ฯลฯ
“ในอนาคตข้อมูลที่รวบรวมจากพฤติกรรม และกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงเหล่านี้จะอยู่ในรูปของ Big Data Platform ที่จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการธุรกิจในภูเก็ต โดยสามารถนำไปคาดการณ์ พฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึกได้มากกว่าการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเดิมในอดีต
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า IoT มีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆในธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการเมืองก็สามารถใช้ประโยชน์ข้อมูล Big
Data เพื่อปรับปรุงพัฒนาเพิ่มคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย แก้ปัญหาต่างๆ
ของเมืองได้อย่างดี สามารถต่อยอดและพัฒนาไปสู่ City Data Platform ซึ่งจะยกระดับการบริหารจัดการเมืองภูเก็ตในทุกมิติให้ก้าวสู่เป้าหมายเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์
เทียบชั้นสมาร์ตซิตี้ทั่วโลก”
CAT โฟกัสการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยแนวคิด Smart Life, Smart
Solution, Smart City โดยเน้นความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ
เช่น การร่วมสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ส่งเสริมการพัฒนาบริการอัจฉริยะภายในจังหวัดภูเก็ต
เกิดจากหน่วยงานภาครัฐ เทศบาล และจังหวัด ซึ่งดูแลสนับสนุนด้านนโยบาย กลุ่มนักวิจัยพัฒนานวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ
ที่จะช่วยวิจัยและพัฒนา (R&D) การประยุกต์ใช้งานและอุปกรณ์
และกลุ่มเอกชน เช่น Maker Clubs รวมทั้งชาวเมืองภูเก็ตที่เข้าใจปัญหามาร่วมให้ข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมการแก้ปัญหาเมืองร่วมกัน
การพัฒนา Smart City ในโครงการต่อๆ ไป เชื่อว่าจะดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นด้วยโมเดลเดียวกับจังหวัดภูเก็ต
โดยบริการที่จะพัฒนาบริการนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการอยู่แล้วในบริการที่ใกล้เคียงกัน
เช่น ระบบการติดตามยานพาหนะ ระบบขนส่ง ฯลฯ แต่หากมีความต้องการเฉพาะที่แตกต่างกัน บริการของ
LoRa IoT by CAT สามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะที่มีความหลากหลาย ในแต่ละพื้นที่
เช่น การแก้ไขปัญหาขยะตกค้าง ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ปัญหาที่จอดรถ
ซึ่งจะสามารถนำเอาบริการ IoT ไปใช้เพิ่มความสามารถในการบริหารจัดการระบบให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยในขณะนี้ CAT ได้ร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชนในการรับทราบและรวบรวมความต้องการต่างๆ
ของแต่ละเมืองเพื่อเตรียมพัฒนาตัวบริการแล้ว CAT อยู่ระหว่างนำโมเดล Smart City จังหวัดภูเก็ตดังกล่าวขยายไปในหัวเมืองใหญ่ๆ
18 จังหวัด โดยคาดว่าภายในไตรมาส 2 ของปี 2561 นี้จะทยอยเปิดให้บริการ LoRa IoT by CAT ในจังหวัดต่างๆ
ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา น่าน สระบุรี
นครนายก ปราจีนบุรี สงขลา สุราษฎ์ธานี นครราชสีมา
มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และนครปฐม รวมถึง 3 จังหวัดในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
หรือ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
Comments
Post a Comment